ประเทศไทย: สองผู้ต้องหาพม่าคดีเกาะเต่า ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนสภาทนายความ ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย

เผยแพร่วันที่ 22 ตุลาคม 2557
ใบแจ้งข่าว

สองผู้ต้องหาพม่าคดีเกาะเต่า ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนสภาทนายความ
ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย
ปฏิเสธไม่ได้ฆ่าหรือข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ
ระบุถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมให้รับสารภาพ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือคดีที่ผู้ต้องหาชาวพม่าสองราย
นาย วิน หรือเนวิน และนายซอ ถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา
จากเหตุการณ์ฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ นายเดวิด มิลเลอร์ วัย 24
ปี และนางสาวฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี ที่เกาะเต่า
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2557
โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก
เป็นหัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีและประเด็นอื่นๆที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาในคดีอาญา
โดยมีทนายความอาวุโสจำนวนหนึ่งร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ทนายความของคณะทำงานดังกล่าวได้เข้าพบผู้ต้องหาเพื่อสอบข้อเท็จจริง
โดยทางเรือนจำอำเภอเกาะสมุยได้จัดพื้นที่ให้คณะทนายความได้พูดคุยกับผู้ต้องหาได้อย่างเป็นอิสระ
การสอบข้อเท็จจริงใช้ระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง
และผู้ต้องหาทั้งสองรายได้ร้องขอให้ทีมทนายความยื่นคำร้อง
เพื่อขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย
โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนที่ว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการข่มขืนและการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ
สาเหตุที่ตนให้การรับสารภาพนั้น
เนื่องจากระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผู้ต้องหาทั้งสองได้ถูกเจ้าหน้าที่บางคนและล่ามของเจ้าหน้าที่
ร่วมกันกระทำการทรมานเพื่อให้รับสารภาพในวันที่ 2 ตุลาคม 2557
จากนั้นนพักงานตำรวจจึงได้ขอให้ศาลออกหมายจับและนำผู้ต้องหาทั้งสองลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพในวันที่ 

3 ตุลาคม 2557 ซึ่งได้มีข่าวปรากฎแพร่หลายตามสื่อโทรทัศน์
สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์
การยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการครั้งนี้
เพื่อขอให้พนักงานอัยการดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพและสอบสวนพยานของผู้ต้องหาประกอบด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ในกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายนั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียหายในคดีอาญา
ญาติของผู้เสียหาย และต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดอาญานั้นได้รับโทษตามสมควรแก่ความผิดที่ได้กระทำและเพื่อเป็นมาตรการมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลหรืออยู่เหนือกฎหมาย
อันจะสร้างความหวาดกลัว ความไม่ปลอดภัย
ต่อคดีอาชญากรรมที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนในสังคม เช่น
เหตุการณ์ฆาตกรรมในพื้นที่เกาะเต่า
ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ
และมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า
ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยมีหน้าที่หลักโดยตรงในการติดตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่มาตรฐานทางกฎหมายอาญาทั้งภายในและระหว่างประเทศได้รับรองไว้
ทั้งในขั้นตอนก่อนการพิจารณา เช่น ในการสืบสวน การจับกุม
ควบคุมตัวเพื่อทำการสอบสวน ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
กระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน
รวมถึงการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี
อันเป็นมาตรการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดกฎหมายหรือหลักการด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา

อนึ่งจากการเยี่ยมโดยคณะทำงานและตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม
พบว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ถูกใส่โซ่ตรวนไว้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งในขณะที่ผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำและระหว่างที่เดินทางมายังศาล
ซึ่งศาลปกครองเคยมีคำพิพาษาเพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านการตรวนผู้ต้องขังตลอด
24 ชั่วโมงนั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง

คดีดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development
Foundation-HRDF)  เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers
Rights Network-MRWRN)  มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation of
Education and Development-FED)   และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross
Cultural Foundation-CrCF)  ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน
มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรม
ตามกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน
ขอให้การสนับสนุนการทำงานของสภาทนายความและรณรงค์เพื่อให้เกิดการความยุติธรรม
ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม
ในประเทศไทย