ประเทศไทย: ความกังวลต่อความล่าช้าในการอ่านคำพิพากษาคดีอาญาต่อนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ 

8 พฤษภาคม 2555

แถลงการณ์คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ศาลอาญา กรุงเทพฯ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาในคดีดำหมายเลขที่ 1667/2553 ในความผิดสิบกระทง ที่มีต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จำเลยในคดีนี้ คือ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร อายุ 44 ปี เว็บมาสเตอร์ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ซึ่งเป็นสื่ออิสระ แต่แทนที่จะมีการอ่านคำพิพากษา เพียง 20 นาที ก่อนจะถึงกำหนดการ ทางเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งต่อน.ส.จีรนุชและทนายของเธอว่า ศาลจะมีคำสั่งในอีกหนึ่งเดือนถัดไป โดยศาลให้เหตุผลที่กำกวมเกี่ยวกับการเลื่อนการอ่านคำพิพากษา โดยอ้างว่า เนื่องจากมีพยานเอกสารจำนวนมากที่ต้องอ่าน และไม่สามารถเตรียมคำพิพากษาได้ทันตามเวลาที่กำหนด

ทั้งความล่าช้าและเหตุผลของความล่าช้า ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างจริงจัง ต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เนื่องจากผู้พิพากษาได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษา ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสืบพยานคดีแล้ว ในช่วงเวลานั้น ผู้พิพากษาย่อมทราบดีถึงคดีและปริมาณของพยานหลักฐานที่ต้องพิจารณา หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อนจะมีคำสั่ง ผู้พิพากษาก็ต้องกำหนดวันนัดในภายหลัง แต่การที่ผู้พิพากษาไม่ได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาใหม่ภายหลัง ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อข้อแก้ตัวที่เลื่อนการอ่านคำพิพากษา รวมทั้งข้อสงสัยต่อพฤติการณ์การแจ้งข้อมูลให้จำเลยรับทราบ หากผู้พิพากษาทราบอยู่แล้วว่า ไม่สามารถเตรียมคำสั่งได้ทันเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนนาทีสุดท้ายก่อนกำหนดการจึงค่อยแจ้งว่า เลื่อนการอ่านคำพิพากษา โดยสามารถแจ้งทนายของจำเลยหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นว่า จะมีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษา การที่ผู้พิพากษาแจ้งต่อจำเลยในนาทีสุดท้าย ถือว่า เป็นการทรมานจิตใจในรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากน.ส.จีรนุชเดินทางไปศาลพร้อมกระเป๋าที่มีข้าวของเครื่องใช้เพื่อนำติดตัวไปในเรือนจำกรณีที่ถูกลงโทษจำคุก ทำให้เธอต้องรอต่อไปอีกหนึ่งเดือนโดยไม่ทราบอนาคตของตนเอง

นับแต่เริ่มต้น คดีที่มีการฟ้องร้องต่อน.ส.จีรนุช นับว่า ขัดกับหลักการความยุติธรรมและสะท้อนถึงพฤติการณ์ของหน่วยงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง การเลื่อนการอ่านคำพิพากษาจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยอีกครั้งหนึ่ง และยังแสดงถึงการที่รัฐปัดความรับผิดชอบที่มีอย่างชัดเจนตาม ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยให้ภาคยานุวัติไว้

กระบวนยุติธรรมทางอาญาต่อน.ส.จีรนุช เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2552 เมื่อศาลอาญาออกหมายจับ ในวันที่ 5 มีนาคม มีการออกหมายค้นสำนักงานประชาไท และวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามได้บุกเข้าตรวจค้นสำนักงาน และจับกุมน.ส.จีรนุช สืบเนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่า มีการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีถ้อยคำกำกวม และขัดกับหลักประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติที่รัฐบาลทหารเป็นผู้แต่งตั้งในปี 2550 ในช่วงค่ำวันเดียวกันตำรวจได้ปล่อยตัวน.ส.จีรนุช แต่ในเดือนถัดมาก็มีการฟ้องข้อหาเพิ่มอีกเก้าข้อหาต่อเธอ ในวันที่ 31 มีนาคม 2553 สํานักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดี ทำให้เธอถูกจับกุมที่ศาลอาญา ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา

จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้บางคนคิดไปว่า น.ส.จีรนุชตีพิมพ์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไท ในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาทอย่างรุนแรง เป็นอันตราย หรือเป็นข้อมูลลับ อันเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการจากตำรวจผู้เชี่ยวชาญพิเศษและพนักงานอัยการ แต่ในความเป็นจริง ความผิดของเธอมีเพียงการที่ไม่ได้ลบข้อความ 10 ข้อความ ที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ออกจากเว็บบอร์ดของประชาไทได้ทันท่วงที พูดอีกอย่างหนึ่ง ความผิดของเธอ คือ การที่ไม่สามารถลบข้อความที่กล่าวถึงราชวงศ์แบบอ้อม ๆ ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงโดยตรง อย่างรวดเร็วเพียงพอ

จากการพิจารณาข้อบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อันเป็นเหตุให้มีการตั้งข้อกล่าวหาแปลกประหลาดเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจถึงความคิดของผู้ที่รับผิดชอบต่อการฟ้องคดีต่อน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร แต่ทำให้เกิดคำถามถึงความกำกวมของกฎหมายฉบับนี้ และอันตรายที่มีต่อสิทธิของพลเรือน ตามมาตรา 14 บุคคลใดก็อาจถูกคุมขังเป็นเวลาห้าปีได้ ถ้าถูกพบว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน…ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามมาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้สนองจุดประสงค์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ดังกรณีของน.ส.จีรนุช นั้น ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

การสืบพยานคดีมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน 2554 และกุมภาพันธ์ 2555 โดยทางกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand: FACT) ได้จัดทำสรุปสาระการไต่สวนคดีเผยแพร่ในเว็บไซต์ ที่ทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้จัดทำขึ้นสำหรับกรณีของน.ส.จีรนุช ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การให้ปากคำส่วนใหญ่มุ่งที่การตีความว่า น.ส.จีรนุชลบข้อความเหล่านี้ช้าเกินไป ทั้งนี้ ตามความเห็นของเจ้าพนักงานตำรวจและอัยการ และข้อความเหล่านี้มีเนื้อหาที่เป็นความผิดตามอาญาตามกฎหมายดังกล่าว การพิจารณาว่า ความเห็นในเว็บไซต์ หรือลิงค์ไปยังไฟล์ภาพหรือไฟล์วีดิโอใด มีแนวโน้มที่จะทำให้ “เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และยิ่งไปกว่านั้น ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่า ข้อความใดมีลักษณะที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือไม่มีการนิยามว่า “ความมั่นคงของประเทศ” หรือ “ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” เป็นอย่างไร เป็นเหตุให้การนิยามถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในแต่ละคดี โดยไม่มีมาตรฐานอ้างอิงที่สามารถพิจารณาได้

การไต่สวนคดียังทำให้เกิดคำถามว่า การจัดให้มีเว็บบอร์ดเพื่อให้มีการแสดงความเห็นจากสาธารณะ แสดงถึงความยินยอมของจำเลยให้มีการโพสต์ความเห็นทั้งหมดหรือความเห็นใด ๆ ในเว็บไซต์ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เธอต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ ในกรณีที่เธอได้ลบความเห็นที่มีลักษณะจ้วงจาบออกไปแล้วเมื่อได้ทราบว่ามีข้อความดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่า เธอไม่ได้มีความยินยอมให้บุคคลใดโพสต์ความเห็นเช่นนั้นในเว็บไซต์ แต่ทางอัยการก็มีข้อโต้แย้งว่า บุคคลใดที่ให้บริการการสนทนาทางอินเตอร์เน็ต หรือพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ในประเด็นใด ๆ ถือว่า ได้แสดงความยินยอมให้มีการโพสต์ความเห็นใด ๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นการอธิบายที่เหลวไหล และอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเผด็จการ ที่ใช้เพื่อจัดการกับน.ส.จีรนุช โดยมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามไม่ให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรี ในประเด็นที่สำคัญต่อประชาชนชาวไทย ในช่วงเวลาวิกฤตในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศในปัจจุบัน ข้อกล่าวหาเหล่านี้ส่งผลให้ประชาไทตัดสินใจปิดเว็บบอร์ด เนื่องจากกลัวว่า ผู้ใช้งานและเจ้าหน้าที่อาจต้องได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องดำเนินคดีเพิ่มเติม

รัฐบาลไทยได้ตอบข้อวิจารณ์ต่อคดีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความเข้าใจต่อคุณค่าพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน หรือแสดงถึงการจงใจไม่เคารพต่อคุณค่าเหล่านี้ ทั้งยังลดทอนความสำคัญของคดีนี้ จะโดยจงใจหรือไม่จงใจก็ดี ยกตัวอย่าง เช่น ในแถลงการณ์ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ซึ่งเป็นองค์กรพี่น้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้อธิบายข้อเท็จจริงในคดีของน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร และให้ความเห็นว่า สะท้อนถึง “การใช้กฎหมายเกินขอบเขตและอย่างบิดเบือน เพื่อข่มขู่พลเรือน และป้องกันไม่ให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาล” ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียยังต้องการเน้นให้เห็นถึงคำอธิบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อข้อกังวล เมื่อเดือนกันยายน 2553 ของนาง Margaret Sekkaggya ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในคดีของน.ส.จีรนุช โดยรัฐบาลไทยยืนยันว่า ทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยังอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ประเทศไทยเป็นสังคมเสรีที่ปฏิบัติตามสิทธิของประชาชนที่จะมีเสรีภาพในการพูดและแสดงออก ซึ่งมีการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในการใช้สิทธิเหล่านี้ บุคคลพึงตระหนักถึงเสถียรภาพของชาติและความสามัคคีในสังคม โดยทั่วไปแล้วในสังคมไทยไม่ยอมรับความเห็นที่มีลักษณะจ้วงจาบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือส่งเสริมความรู้สึกเกลียดชังหรือต่อต้านต่อสถาบันสำคัญแห่งชาติ หรือไม่ยอมรับต่อผู้ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง”

ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อนุญาตให้มีข้อยกเว้นต่อเสรีภาพในการแสดงออก เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างชัดเจน การที่ทางการใช้คำว่า “ไม่ยอมรับ” ไม่ได้ครอบคลุมถึงความจำเป็นของคำพูดดังกล่าว และไม่เป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการฟ้องคดีต่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเช่นนั้น อันที่จริง พฤติการณ์ที่ป่าเถื่อนโหดร้ายมากสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการอ้างความชอบธรรมถึง “การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย” การฟ้องคดีต่อน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบสิทธิมนุษยชนสากลตามที่อ้างว่าเคารพปฏิบัติตาม

จากข้อมูลข้างต้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องให้ศาลอาญาประกันว่า จะไม่มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ออกไปอีก และให้มีการไต่สวนคดีอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และเป็นธรรม ศาลยังควรใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียยังประสงค์จะชี้แจงต่อศาลด้วยว่า ยุทธวิธีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ไม่ได้ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก สนใจคดีนี้น้อยลง แต่กลับเพิ่มความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการใช้ยุทธวิธีเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อพฤติการณ์การไต่สวนคดี และความคาดหวังต่อผลลัพธ์ที่เป็นธรรมต่อจำเลย สุดท้ายคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอกระตุ้นให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกของไทย มาเข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลอาญาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 อีกครั้ง

(โปรดดูหน้าเว็บเพจของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียว่าด้วยกรณีน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร http://www.humanrights.asia/campaigns/chiranuch-prachatai)

# # #

เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527

Document Type : Statement
Document ID : AHRC-STM-099-2012-TH
Countries : Thailand,
Campaigns : Chiranuch Premchaiporn (Prachatai)
Issues : Freedom of expression,