ประเทศไทย: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนนาหนองบง จังหวัดเลย กำลังเผชิญภัยคุกคามต่อชีวิต

ASIAN HUMAN RIGHTS COMMISSION - URGENT APPEALS PROGRAMME

Urgent Appeal Case: AHRC-UAU-019-2014-TH
ISSUES:

เพื่อนที่รักในความเป็นธรรม

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียรับทราบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องชุมชนของตนเองจากผลกระทบในการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย กำลังเผชิญภัยคุกคามต่อชีวิต

รายละเอียด:

สืบเนื่องจากจดหมายอุทธรณ์ฉุกเฉินฉบับที่ AHRC-UAC-073-2014 ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีชายฉกรรจ์ประมาณ 100 คนสวมชุดสีดำบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ชุมชนนาหนองบง จังหวัดเลย โดยเข้าทำร้ายและจับสมาชิกชุมชนกว่า 30 คนเป็นตัวประกันรวมถึงผู้นำชุมชนสองคนที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมือง สมาชิกชุมชนที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดนจับกดหน้าลงกับพื้นและมัดมือและขา กำแพงใจซึ่งเป็นกำแพงที่ชุมชนสร้างขึ้นมิให้รถบรรทุกสารเคมีผ่านเข้าออกเหมืองถูกทำลายลงเพื่อขนแร่ออกมา สมาชิกที่ถูกจับเป็นตัวประกันถูกปล่อยตัวราว 4.00 น. โดยรายงานว่าถูกทำร้ายและข่มขู่ด้วยอาวุธปืนในขณะที่ถูกมัดมือและขา ในขณะเกิดเหตุ ชุมชนได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีเพียงตำรวจบ้านสองนายได้เข้ามาดูสถานการณ์และกลับออกไปเมื่อพบชายฉกรรจ์ติดอาวุธจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าผู้บุกรุกกลุ่มดังกล่าวเป็นใครและไม่มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการจับคนผิดมารับโทษ

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุมชนรอบเหมืองทองคำในจังหวัดเลยถูกบุกรุก โดยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนถูกทุบตีและจับกุมตัวโดยชายฉกรรจ์ที่ปิดคลุมใบหน้า และพบว่ามีการขนแร่ออกจากเหมืองไป คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียรับทราบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า บริษัทได้วางแผนที่จะขนแร่ออกจากเหมืองอีกครั้งในช่วงที่มีการบังคับใช้กฏอัยการศึกและการตั้งข้อกล่าวหาจากการฝ่าฝืนกฏดังกล่าวโดยคณะรัฐประหาร เป็นผลให้ชุมชนกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรงจากการถูกทำร้าย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียยังได้รับทราบว่า ทนายความซึ่งทำงานกับชุมชนถูกติดตามในขณะขับรถไปยังศาลเพื่อยื่นเอกสารขอความคุ้มครองชั่วคราวมิให้บริษัทดำเนินกิจการ รวมถึงการขนแร่ทองแดงออกจากเหมือง ทั้งสองประการถือเป็นการคุกคามอย่างชัดเจนต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียรับทราบเพิ่มเติมว่า มีการจ้างมือปืนเพื่อสังหารผู้นำชุมชนแปดคน โดยบ่ายวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้แจ้งสมาชิกชุมชนว่ามีการจ้างทีมมือปืนราว 30 คนเพื่อมุ่งเป้าสังหารผู้นำชุมชนทั้งแปดโดยตั้งค่าหัวเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาทและให้บรรลุผลภายในหนึ่งสัปดาห์ ในเย็นวันเดียวกัน พบกลุ่มชายฉกรรจ์ราว 5-6 คนยืนอยู่หลังแนวต้นยางพาราตรงข้ามบ้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ หนึ่งในผู้นำชุมชน ถัดมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 มีรถกระบะสี่ประตูสีดำขับวนรอบชุมชนฟากห้วย และในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ราวสองทุ่ม มีเสียงปืนสองนัดดังมาจากหลังบ้านผู้นำหญิงคนหนึ่งของชุมชน ในช่วงสองวันที่ผ่านมา สมาชิกชุมชนหวาดกลัวที่จะออกไปกรีดยางและกลัวอันตรายต่อชีวิต ชุมชนจะปิดประตูและอยู่ในบ้านหลังช่วงพระอาทิตย์ตกเป็นต้นไปเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม:
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมือง ความเสี่ยงของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดเลย ยังเพิ่มสูงขึ้นจากภาพรวมการประกาศใช้กฏอัยการศึกและการตั้งข้อหาการร่วมชุมนุมภายใต้กฏดังกล่าวในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ตามมาด้วยการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอให้ผู้ซึ่งมีความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยร่วมกันเรียกร้องให้คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประกันความปลอดภัยของชุมชน รวมถึงสิทธิในชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนที่จะต้องได้รับการปกป้องด้วย

ท่านสามารถสนับสนุนเราได้อย่างไร:

โปรดส่งจดหมายถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ดำเนินการปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนในจังหวัดเลย:

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้ส่งจดหมายถึงผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนในกรณีนี้

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER

เรียน ___________,

ประเทศไทย: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนนาหนองบง จังหวัดเลย กำลังเผชิญภัยคุกคามต่อชีวิต

ผู้ได้รับผลกระทบ: สมาชิกชุมชนจากหกหมู่บ้านในตำบลเขาหลวง รวมถึงหมู่บ้านนาหนองบง ผู้ซึ่งคัดค้านการทำเหมืองและขยายเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้าในเขตพื้นที่จังหวัดเลย

ผู้ที่สงสัยว่าก่อการคุกคาม: 
1. บริษัททุ่งคำ (TKL)
2. เจ้าหน้าที่ทหารและอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร

วันเกิดเหตุ: ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 16พฤษภาคม 2557; ความเสี่ยงต่อความรุนแรงในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557
สถานที่เกิดเหตุ: จังหวัดเลย ประเทศไทย

ดิฉัน/ผมมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปกป้องชุมชนของตนจากผลด้านลบการทำเหมืองในจังหวัดเลยได้ยกระดับขึ้นเป็นการคุกคามต่อชีวิต บริษัททุ่งคำ (TKL) ซึ่งเป็นบริษัทสาขาการสำรวจแร่ทองคำและการทำเหมืองของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินคดีทางกฏหมายกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกชุมชนจากหกหมู่บ้าน รวมถึงหมู่บ้านนาหนองบงในตำบลเขาหลวง ผู้คัดค้านกิจการเหมืองและการขยายเหมืองทองคำภูทับฟ้าในพื้นที่จังหวัดเลย สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้านของตนเพื่อคงไว้ซึ่งวิถีทางการเกษตรดั้งเดิมของชุมชน

ชุมชนถูกบุกรุกในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยที่ชายฉกรรจ์ติดอาวุธพร้อมปกคลุมใบหน้าจำนวนหลายร้อยคน จับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนเป็นตัวประกันโดยมัดมือและขาและกดหน้าตัวประกันลงกับพื้น เพื่อขนแร่ทองแดงออกจากเหมือง ผม/ดิฉันรับทราบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า มีการจ้างวานมือปืนเพื่อสังหารผู้นำชุมชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมือง และยังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อภาพรวมการประกาศใช้กฏอัยการศึกและการตั้งข้อหาต่อการชุมนุมคัดค้านกรณีต่างๆ ผ่านการใช้กฏหมายฉบับดังกล่าวในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่มแนวโน้มการใช้ความรุนแรงที่ทำให้หนทางการแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอให้ผู้ซึ่งมีความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เรียกร้องให้คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกันความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในชีวิตและความเป็นอยู่ที่จะต้องได้รับการปกป้อง 

ผม/ดิฉันจึงขอให้มีการดำเนินการ ดังนี้

1. ขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกันว่าการประกาศใช้กฏอัยการศึกและการรัฐประหารจะไม่สร้างเงื่อนไขให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกชุมชนเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

2. ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ยังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุการคุกคามสมาชิกชุมชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ข่มขู่ด้วยระเบิดปลอมหน้าบ้านผู้นำกลุ่ม และการปกป้องชุมชนในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 รวมถึงการปกป้องผู้นำและสมาชิกในชุมชนจากการคุกคามตัวบุคคลและชีวิต ความคุ้มครองอย่างแข็งขันจากตำรวจคือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรณีนี้

3. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมสอบสวนการซื้อ-ขายแร่ของบริษัททุ่งคำ นอกจากนี้ ขอให้มีมาตรการปกป้องและความปลอดภัยต่อผู้นำกลุ่มและสมาชิกชุมชนผู้คัดค้านบริษัทเหมืองและพยานในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยทันที

4. ขอให้คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสอบสวนการละเมิดสิทธิและสิทธิมนุษยชน การข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นต่อผู้นำและสมาชิกชุมชน นอกจากนี้ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อประกันความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรณีนี้

ด้วยความเคารพอย่างสูง

—————-
โปรดส่งจดหมายฉบับนี้ไปยัง

1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ผู้บัญชาการทหารบก
สำนักงานผู้บังคับบัญชา
ถนน ราชดำเนินนอก
กรุงเทพฯ 10200
E-mail: prforeign@gmail.com

2. นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 
ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน
กรรมการสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)  ชั้น 6-7
120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ 
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
E-mail: niran@nhrc.or.th

3. อัยการสูงสุด
สำนักงานอัยการสูงสุด
ตึกหลักเมือง ถนนหน้าหับเผย
พระบรมมหาราชวัง
กทม. 10200
Email: oag@ago.go.th

4. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตึก 1 ชั้น 7
ถนนพระราม 1 ปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
E-mail: feedback@police.go.th

5. Mr. Jesús Miguel Sanz
เอกอัครราชทูต
คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย 
อาคารเคี่ยนหงวน 2 ชั้น 19 
140/1 ถนนวิทยุ 
กรุงเทพฯ 
Email: delegation-thailand@eeas.europa.eu

6. สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตึกสหประชาชาติ ชั้น 6 
ถนนราชดำเนินนอก
กทม. 10200
แฟกซ์: +66 2 288 1039
Email: ohchr.bangkok@un.org

ขอขอบคุณ

Document Type : Urgent Appeal Update
Document ID : AHRC-UAU-019-2014-TH
Countries : Asia,