ประเทศไทย: องค์กรสิทธิเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และจำเลยในคดีอาญาอื่น ระหว่างการพิจารณาคดี 

สำหรับเผยแพร่ทันที
24 มกราคม 2556

แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กรณีศาลตัดสินคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ตามที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.1952/2554 ในวันที่ 23 มกราคม 2555 ระหว่าง พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่บทความคมความคิด ของผู้ใช้นามปากกา จิตร พลจันทร์  ในบทความเรื่องแผนนองเลือด และบทความเรื่องยิงข้ามรุ่น  ในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) โดยศาลพิเคราะห์ว่า บทความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิพากษาลงโทษจำคุกสองกระทง กระทงละ 5 ปี เป็นจำนวน 10 ปี บวกโทษจำคุก 1 ปี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1078/2552 ของศาลอาญา รวมเป็นจำคุก 11 ปี

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความห่วงกังวลถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประเทศเสรีประชาธิปไตย และขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1.    ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นในคดีที่ถูกกล่าวหาเช่นดียวกันนี้ ในทันที เนื่องจากถือเป็นนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมือง ทั้งหัวใจของกฎหมายอาญา คือ หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และเพื่อคุ้มครองหลักการดังกล่าวจำเลยจึงต้องได้สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว การควบคุมตัวบุคคลในระหว่างการพิจารณาที่ยาวนานจึงเปรียบเสมือนการพิพากษาจำคุกมาตั้งแต่ต้น อันเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ

2.    ขอให้รัฐดำเนินการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และพันธกรณีระหว่างประเทศตามข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขอัตราโทษที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับการกระทำความผิด เนื่องจากการรักษาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่อาจกระทำได้โดยการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย และอำนาจในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่ไม่ควรให้ใครก็ได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้มีผู้ใช้ข้อหาความผิดตามมาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง

3.    ขอให้ศาลยึดมั่นในหลักการกฎหมาย และพิจารณาคดีโดยปราศจากฐานของหลักอคติ เพราะการบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานหลักการและเคารพสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญย่อมมีส่วนลดความรุนแรงของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้  ในทางตรงกันข้ามการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่อยู่บนพื้นฐานหลักการ แม้กฎหมายจะมีความเป็นธรรมสักเพียงใดก็ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคมได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคม การยึดมั่นในหลักนิติธรรมและบทบาทของผู้พิพากษาที่เป็นกลางปราศจากอคติในภาวะวิกฤติเท่านั้นที่จะนำพาประเทศชาติให้อย่างร่วมกันได้อย่างสันติประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน

—————————————————————————–

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ: นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โทรศัพท์ +66 2 6934939

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER


Document Type : Forwarded Statement
Document ID : AHRC-FST-012-2013-TH
Countries : Thailand,
Issues : Judicial system,