ประเทศไทย: การดำเนินคดีกับนักวิจัยของ Finnwatch เป็นการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็น

แถลงการณ์ของ Finnwatch

1 เมษายน 2556

การดำเนินคดีกับนักวิจัยของ Finnwatch เป็นการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ทางการไทยจะต้องดำเนินการสืบสวนการปฏิบัติงานของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต และ บริษัท แนท กรุ๊ป (NatGroup) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และจะต้องมีการพิจารณาถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปด้วย

บริษัท เนเชอรัล ฟรุต (Natural Fruit) ผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้เข้มข้น ได้ยื่นฟ้องต่อนายอานดี้ ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้ประสานงานการวิจัยภาคสนามของ Finnwatch ในประเทศไทย สองข้อหา

หากศาลตัดสินว่ามีความผิด อานดี้อาจจะต้องรับโทษจำคุกนานถึงเจ็ดปี  บริษัทเนเชอรัล ฟรุต ยังเรียกร้องค่าเสียหาย 300 ล้านบาทในคดีแพ่งอีกด้วย

ข้อกล่าวหาที่บริษัทฟ้องร้องนั้นเกี่ยวกับงานวิจัยของ Finnwatch ที่อานดี้เป็นผู้วิจัยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2555 และเกี่ยวกับการสื่อสารผลของการวิจัยต่อสาธารณะ

ข้อค้นพบที่น่าตระหนกที่สุดของงานวิจัยมาจากการสัมภาษณ์ลูกจ้างของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต  คนงานของบริษัทซึ่งบางคนเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองตามกฎหมาย ได้เล่าถึงสภาพการทำงานที่ไม่ดี ค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การยึดเอกสารทางการของคนงานไว้ การใช้แรงงานเด็ก และการให้คนงานทำงานล่วงเวลาเกินไปอย่างมาก  มีการบันทึกการสัมภาษณ์ไว้เป็นเอกสารและสามารถตรวจสอบได้

Finnwatch ได้นำเสนอข้อค้นพบของการวิจัยต่อกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเดือนธันวาคม 2555 และได้มีการพยายามติดต่อกับบริษัทเนเชอรัล ฟรุต หลายครั้งในระหว่างการทำวิจัย แต่บริษัทฯ ก็ไม่เคยตอบกลับหรือแสดงความสนใจที่จะให้ความเห็นต่อข้อค้นพบของเราเลย

แม้ว่าจะมีหลักฐานแน่นหนาถึงการกระทำผิดอย่างรุนแรง บริษัทเนเชอรัล ฟรุต หรือบริษัทแนทกรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทแม่ ก็ยังไม่เคยต้องรับผิด และยังได้รับอนุญาตให้เปิดทำการต่อไป

เราเข้าใจว่าการฟ้องร้องอานดี้ ฮอลล์ นั้นไม่เพียงแต่ไม่มีมูล แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะจำกัดการเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเทศไทย

เพียงในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันหลายกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิแรงงานของคนงานในอุตสาหกรรมส่งออกหลักๆ ของไทย เช่น การแปรรูปกุ้ง ทูน่า และสับปะรด อย่างรุนแรง ในหลายกรณีการดำเนินการของทางการไทยนั้นไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยเพิ่งจะสิ้นสุดการเจรจาข้อตกลงภาคีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของไทยหลังจากที่ได้เจรจากันมายาวนาน โฮเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ่ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ชี้ว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงนี้  ในเดือนมีนาคม สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้เริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี

ในบริบทของการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินอยู่และในการมีปฏิสัมพันธ์อื่นๆ กับประเทศไทย สหภาพยุโรปจำต้องยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กล่าวไว้ข้างต้นขึ้นมา และจะต้องใช้ทุกวิธีการที่ตนสามารถทำได้เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ประเทศไทยจะต้องเพิ่มความพยายามในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดูแลให้องค์กรต่างๆ นักวิจัย นักเคลื่อนไหว และนักข่าว ที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานของตนไปได้โดยไม่ถูกคุกคาม

การดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ต่ออานดี้ ฮอลล์ จะต้องยุติลง และทางการไทยจะต้องดำเนินการสืบสวนการปฏิบัติงานของบริษัทแนทกรุ๊ปโดยทันที

ติดต่อ
Sonja Vartiala
ผู้อำนวยการบริหาร
+358 44 568 7465
sonja.vartiala@finnwatch.org

Document Type : Forwarded Statement
Document ID : AHRC-FST-021-2013-TH
Countries : Thailand,
Issues : Child rights, Corruption, Freedom of expression, Human rights defenders, Judicial system, Rule of law,