ประเทศไทย: ญาติพลทหารวิเชียร ถูกครูฝึกซ้อมจนเสียชีวิตที่จังหวัดนราธิวาส ยื่นฟ้องต้นสังกัดให้ชดใช้ค่าเสียหาย

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ปรารถนาที่จะส่งต่อแถลงข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) ต่อท่านตามที่เอกสารข้างล่างนี้

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ฮ่องกง

————-

แถลงข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) ส่งต่อโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC)

ประเทศไทย: ญาติพลทหารวิเชียร ถูกครูฝึกซ้อมจนเสียชีวิตที่จังหวัดนราธิวาส ยื่นฟ้องต้นสังกัดให้ชดใช้ค่าเสียหาย

เผยแพร่วันที่ 23 พฤษภาคม 2555

พรุ่งนี้ วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2555 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ( รัชดา ) ตัวแทนสภาทนายความและทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวมทั้งญาติพลทหารวิเชียร เผือกสม จะยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ในกรณีครูฝึกได้ลงโทษโดยการทรมาน ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร ในระหว่างการฝึกทหารใหม่ ที่หน่วยฝึกทหารใหม่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จนเป็นเหตุให้พลทหารวิเชียรถึงแก่ความตาย

พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุและศึกษาจนจบชั้นปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผลการเรียนเกียตินิยมอันดับ 1 และสำเร็จระดับปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลการเรียนดีเยี่ยม แต่เนื่องจากตามราชบัญญัติรับราชการทหาร และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้ชายไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องรับราชการทหาร ทำให้พลทหารวิเชียรต้องลาสิกขาบทเพื่อสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 พลทหารวิเชียรได้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารและเข้าฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ทหาร 10 นาย ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย โดยอ้างว่าพลทหารวิเชียร เผือกสม หลบหนีการฝึก ทำให้พลทหารวิเชียร ได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเวลากว่า 3 วันที่พลทหารวิเชียร ทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลที่ถูกทำร้าย จนกระทั่งในวันที่ 3 มิถุนายน 2554 ทางหน่วยทหารฯ ได้นำตัวพลทหารวิเชียร ไปที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส แต่ทางโรงพยาบาลเห็นว่า พลทหารวิเชียร มีอาการบาดเจ็บสาหัส เกินขีดความสามารถของแพทย์ จึงได้ส่งตัว ไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส และพลทหารวิเชียร ได้เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 โดยสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และที่ปรึกษาโครงการรณรงค์กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทรมาน เห็นว่า “การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนเสียชีวิตดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีความผิดทางอาญา และหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดแก่ผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังเเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะมีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการของหน่วยงานต้นสังกัด การแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการเยียวยาเบื้องต้นต่อครอบครัวไปแล้วก็ตาม หากแต่การดำเนินการเพื่อนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมในทางอาญายังมีความล่าช้า มีการส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังหน่วยงานอิสระคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และต่อมาเรื่องร้องเรียนได้โอนจากปปช.มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ของกระทรวงยุติธรรม ทำให้กระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนมีความล่าช้า อีกทั้งพลทหารวิเชียรเป็นผู้ที่ครอบครัวให้ความหวังว่าจะเป็นเสาหลักของครอบครัวภายหลังสำเร็จการศึกษา การฟ้องร้องคดีแพ่งในครั้งนี้เพื่อเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรม และนำความจริงมาปรากฎในชั้นศาลถึงสาเหตุการเสียชีวิตและเรียกร้องให้หน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสม การกระทำดังกล่าวเป็นทั้งความผิดทางอาญาและเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ประเทศไทยได้เป็นรัฐภาคีอในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้ แต่การทรมานยังไม่เป็นความผิดอาญาในกฎหมายอาญาของประเทศไทยซึ่งต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเรื่องการทรมานฉบับดังกล่าว ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย และห้ามไม่ให้มีการทรมาน การกระทำที่เกิดขึ้นต่อพลทหารวิเชียรฯ จึงละเมิดสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานราชการที่ต้องมีการแสวงหาหนทางแก้ไขในระดับองค์กรเพื่อป้องกันมิให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกต่อประชาชนที่ต้องการรับใช้ชาติหรือถูกคัดเลือกให้รับการเกณฑ์ทหารในอนาคตอีกต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ สภาทนายความ 02 282 9906
นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02 693 4939

# # #

เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER


Document Type : Forwarded Press Release
Document ID : AHRC-FPR-020-2012-TH
Countries : Thailand,
Issues : Right to remedy,