ประเทศไทย: การจับกุมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน

ประเด็นที่เกี่ยวข้อง: ประชาธิปไตย, นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน, การกระทำผิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบหรือถูกลงโทษ, กองทัพ

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอแสดงความกังวลใจอย่างยิ่งต่อการจับกุมนายพรม จาระณะ (อายุ 64 ปี) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน สมาชิกสมัชชาคนจน ในกรณีบ้านเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามข้อมูลที่รับทราบจากองค์กร Protection International และสมัชชาคนจน นายพรมถูกจับกุมตัวโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่บ้านพักในตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เวลา 10.30 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดบุรีรัมย์ การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการคุกคามและการข่มขู่ไล่ที่ดินชุมชนเก้าบาตรเป็นเวลายาวนานหลายสัปดาห์ ปัจจุบัน ครอบครัวของนายพรมยังไม่รับทราบถึงสถานที่หรือเหตุผลที่ถูกนำตัวไป

การจับกุมคุมขังนายพรม จาระณะโดยพลการถือเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนภายหลังเกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาเจ็ดวันหลังการยึดอำนาจโดยคณะทหาร พบการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมืองอย่างร้ายแรง, การเรียกพบรายงานตัวกับคณะทหารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ, การควบคุมตัวโดยพลการอย่างกว้างขวาง, การบังคับใช้ศาลทหารเพื่อดำเนินคดีกับพลเรือน, การมุ่งโจมตีประชาชนผู้ยากไร้และการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวซึ่งเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ภายใต้กฏอัยการศึกซึ่งถูกบังคับใช้สองวันก่อนการรัฐประหาร กฏดังกล่าวได้ให้อำนาจทหารในการคุมขังและสอบสวนบุคคลใดๆ เป็นเวลาเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหลักฐานการกระทำผิดหรือข้อกล่าวหาประกอบ ประชาชนจะถูกจับกุมและควบคุมตัวในสถานที่คุมขังซึ่งไม่เป็นปกติ รวมถึงในป้อมค่ายถาวรและชั่วคราวของทหาร หรือในสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่คุมขัง การคุมขังในสถานที่ซึ่งไม่เป็นปกตินั้นอาจหมายถึงความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ การซ้อมทรมาน การบังคับให้สูญหาย รวมถึงการฆ่านอกกฏหมาย

นายพรม จาระณะเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาชิกสมัชชาคนจนผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสันติในกรณีการยึดคืนที่ดินในอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557  สำหรับชุมชนเก้าบาตรมีการต่อสู้ยาวนานกับรัฐไทยในสิทธิการอยู่อาศัยกับป่า อย่างไรก็ตาม การยึดคืนที่ดินจากชุมชนถูกรับรองโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบ (คสช.) จำนวนสองฉบับที่ระบุนโยบายป่าไม้ของรัฐ คำสั่งคสช. ฉบับที่ 64/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ได้ให้อำนาจกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร, ตำรวจ, และเจ้าหน้าที่ปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว แม้ว่า คสช. จะยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ทำร้ายประชาชนผู้ยากไร้ นโยบายดังกล่าวกลับดำเนินการขัดกันอย่างชัดเจน

ในวันที่ 28 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธจำนวน 50 นาย, ตำรวจ, และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าไปในชุมชน โดยสมาชิกชุมชนได้รับแจ้งว่าทางกองทัพต้องการที่จะยึดคืนที่ดินและสมาชิกชุมชนจะต้องรื้อถอนบ้านพักอาศัยพร้อมทั้งออกจากหมู่บ้าน หากปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะกลับเข้ามาดำเนินการและยึดที่ดินคืนด้วยตนเอง การควบคุมตัวนายพรม จาระณะโดยพลการและนโยบายการยึดพื้นที่บ้านเก้าบาตรมิใช่เหตุการณ์ที่แปลกแยกออกจากกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการโจมตีที่สร้างผลกระทบแก่ประชาชน 300 ครัวเรือนและผู้คนกว่านับพันชีวิต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้รับการรายงานว่าระหว่างวันที่ 27 มิถุนายนและวันที่ 2 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ทหาร, ตำรวจ, และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินการตามแผนเดียวกันในการคุกคามและข่มขู่ไล่ที่ส่วนอื่นๆของจังหวัดบุรีรัมย์ อันได้แก่ บ้านเสียงสวรรค์, บ้านตลาดควาย, บ้านป่ามะม่วง, บ้านคลองหินใหม่, และบ้านสามสลึง โดยผู้นำชุมชนสิบคนจากบ้านเสียงสวรรค์ถูกควบคุมตัวโดยพลการและปราศจากข้อกล่าวหาเป็นเวลาเจ็ดวันในค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยที่สมาชิกชุมชนเหล่านี้มิได้รับทราบสาเหตุการควบคุมตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนข้างต้น ยังได้รับแจ้งให้รื้อถอนบ้านพักและออกจากชุมชนภายในวันที่ 7-10 กรกฎาคม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกลับมาและใช้กำลังยึดครองที่ดิน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ยังไม่กลับมาดำเนินการดังกล่าว ยังปรากฏการลาดตระเวนและการคุกคามสมาชิกชุมชน โดยที่สมาชิกชุมชนยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการถูกยึดคืนที่ดิน

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอประณามคณะรัฐประหารอย่างร้ายแรงและขอแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วในการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐประหารก่อให้เกิดขึ้น และขอให้ปล่อยตัวนายพรม จาระณะ รวมถึงผู้ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการโดยคสช. สืบเนื่องจากการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอให้คสช. รวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในประเทศไทยยุติการใช้การรัฐปรหารและการบังคับใช้กฏอัยการศึกเพื่อสร้างความชอบธรรมในการลดทอนสิทธิมนุษยชน เพราะการปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น มิใช่อาชญากรรม

Document Type : Statement
Document ID : AHRC-STM-138-2014-TH
Countries : Thailand,
Issues : Arbitrary arrest & detention, Democracy, Fabrication of charges, Impunity, Military,