ประเทศไทย: การเสียชีวิตของคุณปู่อายุ 61 ปีระหว่างการถูกควบคุมตัว หลังถูกจำคุก เพราะถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือสี่ฉบับ 

English

9 พฤษภาคม 2555

แถลงการณ์จากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

AHRC-STM-101-2012.JPGคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของ นายอำพล ตั้งนพกุล ซึ่งเสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นายอำพล (หรือที่เรียกในครอบครัวว่า “อากง” และคนทั่วไปรู้จักว่า “อากง SMS”) อายุ 61 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ในคดีดำหมายเลขที่ 311/2554 ศาลอาญาลงโทษเขาตามความผิดสี่กระทงที่มีต่อมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือสี่ฉบับ ไปให้กับ นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือทั้งสี่ฉบับ มีเนื้อหาดูหมิ่นพระราชินีและถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเคยตั้งข้อสังเกตเมื่อครั้งที่มีการตัดสินลงโทษนายอำพลแล้วว่า (AHRC-STM-180-2011) การสั่งฟ้องคดีนี้ ทำให้เกิดคำถามอย่างมากต่อความถูกต้อง ด้วยพยานหลักฐานสำหรับคดีประเภทนี้ และยังชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งครอบคลุมรูปแบบการสื่อสารทางอิเลคทรอนิกส์ทุกประเภท ไม่เพียงที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อัยการยืนยันในหลักการว่า โทรศัพท์มือถือที่ใช้ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือที่ผิดกฎหมายทั้งสี่ฉบับ มีหมายเลขรหัสประจำเครื่องหรือ IMEI (International Mobile Equipment Identifying) ตรงกับโทรศัพท์มือถือที่นายอำพลเคยใช้โทรหาลูกของตนเอง แม้ว่า นายอำพลยืนยันว่า ไม่เคยส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือดังกล่าว และไม่รู้จักวิธีส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำไป แต่ศาลก็ตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลานานกับเขา

การเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวของ นายอำพล ตั้งนพกุล ยังทำให้เกิดคำถามและข้อกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบยุติธรรมไทย นับแต่มีการสั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 นายอำพลก็ถูกควบคุมตัวมาโดยตลอด ในช่วงที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา เขาเริ่มมีอาการมะเร็งในช่องปาก และในขณะนั้นยังได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถูกควบคุมตัวทางทนายความของเขาจึงร้องขอการประกันตัวระหว่างที่รอการพิจารณาคดี แต่ศาลปฏิเสธคำขอ และได้ปฏิเสธคำขออีกเจ็ดครั้งก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น และภายหลังมีการตัดสินลงโทษ ยังปฏิเสธคำขอประกันตัวในช่วงไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วย

การปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายอำพลซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เกิดคำถามอย่างมากต่อกระบวนการที่คลุมเครือ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้เพื่อพิจารณา ว่า จะให้หรือไม่ให้ประกันตัวสำหรับผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ระหว่างรอการไต่สวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ในการขอประกันตัวครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ความเจ็บป่วยของนายอำพลซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการขอประกันตัว “ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต” ศาลไทยยังใช้เหตุผลแบบเดียวกันเพื่อปฏิเสธคำขอประกันตัวในคดีอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีมีเหตุผลอันชอบในแง่ความต้องการการรักษาพยาบาล อย่างเช่น กรณีของน.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ซึ่งป่วยเป็นโรคขากรรไกรอักเสบ เมื่อพิจารณาถึงสภาพการรักษาพยาบาลที่ขาดแคลนในทัณฑสถานของไทย การปฏิเสธคำขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกในกรณีของนายอำพล ยิ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ใส่ใจต่อสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำของไทย ในบรรดาบุคลากรของหน่วยงานตุลาการ

เนื่องจากการเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจของนายอำพลระหว่างอยู่ในเรือนจำ เกิดขึ้นภายหลังการปฏิเสธคำขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกในระหว่างที่มีการยื่นอุทธรณ์คดี และเมื่อพิจารณาถึงความรับผิดชอบของรัฐในการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งความรับผิดชอบที่จะให้บริการด้านสุขภาพที่จำเป็น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกันว่า การชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตาย ในคดีนี้ ดำเนินไปอย่างเต็มที่และโปร่งใสตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า นายอำพลได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลของเรือนจำเมื่อวันศุกร์ แต่เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดราชการจึงไม่ได้มีการตรวจโดยห้องทดลอง(ห้องแล๊บ) เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล อย่างเต็มที่และโปร่งใส เกี่ยวกับระบบการรักษาพยาบาลในเรือนจำ มากกว่าข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งนี้ โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) สำหรับการเสียชีวิตของนายอำพล เราขอเน้นย้ำและเรียกร้องรัฐบาลให้พิจารณาเนื้อหาในข้อ 22 (2) ของมาตรฐานดังกล่าวที่ระบุว่า

“นักโทษที่เจ็บป่วย ซึ่งต้องการการรักษาเฉพาะทาง ควรถูกส่งตัวไปยังหน่วยงานเฉพาะทางหรือโรงพยาบาลพลเรือน กรณีที่หน่วยงานควบคุมตัวมีบริการรักษาพยาบาล จะต้องมีการดูแลให้มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ ที่เหมาะสม ต่อการดูแลและรักษาพยาบาล นักโทษที่เจ็บป่วย และให้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสม” และข้อ 25(2) ที่ระบุว่า

“เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพยาบาลจะต้องรายงานต่อผู้อำนวยการ กรณีที่เห็นว่า สุขภาพทางกายหรือใจของนักโทษ มีลักษณะหรืออาจได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการถูกควบคุมตัวอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมใด ๆ ในระหว่างการควบคุมตัว”

สุดท้าย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเน้นย้ำเจตจำนง ที่แสดงไว้ในแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณายกเลิก มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นกฎหมายที่เรียกร้องให้มีความจงรักภักดี อย่างไม่มีการตรวจสอบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในไทย และให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องโทษในคดีเหล่านี้ทั้งหมด รวมทั้งผู้กระทำผิดตามมาตราที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นับแต่การทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี มีบทลงโทษที่หนักหน่วงเทียบได้กับผู้กระทำผิดด้านยาเสพติด และฆาตรกรรม การเสียชีวิตของ นายอำพล ตั้งนพกุล ระหว่างการถูกควบคุมตัว สะท้อนให้เห็นว่า ต้นทุนความจงรักภักดีมีราคาแพงเกินไป ดังเช่นชายคนนี้ที่ต้องจบชีวิตเพียงเพราะข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือสี่ฉบับ และครอบครัวก็ต้องสูญเสีย สามี พ่อ และปู่ ของเขาไป

Document Type : Statement
Document ID : AHRC-STM-101-2012-TH
Countries : Thailand,
Issues : Death in custody, Judicial system, Right to health, Right to remedy,